ผู้นำวิถีองค์กรทีล TEAL Leadership

ผู้นำวิถีองค์กรทีล   

บทความโดย อ.โชติวุฒ อินนัดดา 

 

เรื่องราวในบทความนี้เป็นการเล่าจากเรื่องสมมติ จำลองให้ผู้อ่านได้เข้าใจในภาพของปฏิบัติที่ผ่านการเกิดขึ้นที่เป็นรูปธรรมในเรื่องเล่า

---------------------------------------------------

วันหนึ่งในปี พ.ศ. 2569 “ทีลกร” ได้รับคำเชิญจาก “ฟ้ากว้าง*” องค์กรที่เขาสวมบท CEO ตามกรอบกฏหมายนิติบุคคล ให้เข้าร่วมสนทนาในวงบริหารร่วม เพื่อทบทวนและค้นหาบทบาทและสมาชิกใหม่ขององค์กร 

“สวัสดีค่ะคุณทีลกร”

ไมตรีตะโกนทักทายจากโต๊ะที่เธอกำลังสนทนากับสมาชิกอีก 2-3 คน ไมตรีเคยเป็นเลขาฯให้ทีลกรเมื่อ 5 ปีก่อน ในขณะที่ฟ้ากว้างเพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้น ภายในเวลาหนึ่งปีจากนั้น เธอพบว่าบทบาทของเลขานุการไม่ได้มีความจำเป็นอีกต่อไป ทีลกรไม่ได้มีเรื่องต้องจัดการ การนัดหมาย หรือการประชุมที่หยุมหยิมจนต้องมีใครสักคนโดยเฉพาะทำหน้าที่ช่วยเหลือในเรื่องแบบนั้น ปัจจุบันไมตรีสวมบทบาทในการดูแลบรรยากาศการสนทนาและความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆขององค์กร เธอตั้งชื่อบทบาทของเธอในปัจจุบันว่า Dialogue Circles Facilitator (DCF)

“คุณทีลกร วันนี้ไมตรีจะขอเวลาให้คุยกับ อ.ป้อง ภัทร จากกลุ่มวิวัฒนากร สักครึ่งชั่วโมง สะดวกไหมคะ”

“ได้สิ.. วันนี้ผมว่างๆ เอ๊ะ..ก็ว่างเกือบทุกวันแหละ 555 วิวัฒนากรหรือ อื้มมม ได้ยินชื่อมานานละ เชิญครับ”

“ฟ้ากว้าง” เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน เมื่อ ทีลกร และเพื่อนนักบริหารอีก 4 คน ได้ร่วมกันก่อตั้งขึ้นเพราะต่างเห็นพ้องกันในขณะนั้น ว่าการบริหารองค์กรแบบทุนนิยมเน้นการจัดการ นอกจากสร้างผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาแก่ระบบนิเวศธุรกิจ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังบั่นทอนคุณภาพชีวิตของพวกเขาเองอย่างมาก ผู้ก่อตั้งทั้ง 5 คนเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงในเครืออาณาจักรธุรกิจต่างๆที่อยู่ในระดับยอดปิรามิดของประเทศ ต่อเมื่อเกิดวิกฤติโรคระบาดร้ายแรงที่สร้างผลกระแทบต่อเศรษฐกิจโลกหลายระลอกจนแทบไม่เห็นจุดจบ พวกเขาต่างเห็นพ้องว่า วิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกในขณะนั้น เป็นเสียงเตือนที่ทรงพลังจากธรรมชาติ ที่คอยย้ำอย่างชัดเจนว่า ธรรมชาติคงจะไม่ปล่อยให้มนุษย์เอาชนะปัญหาครั้งนั้นไปได้ง่ายๆ เพียงเพื่อกลับไปมีพฤติกรรมที่มุ่งสู่การทำลายล้างเช่นเดิม การต่อสู้กับวิกฤติด้วยการใช้วิทยาการต่างๆอันเป็นวิธีที่มนุษย์คุ้นเคย ล้วนไม่เป็นผล กลุ่มผู้ก่อตั้ง “ฟ้ากว้าง” กลับเห็นพ้องว่า ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาต้องสร้างความมุ่งมั่นให้ประจักษ์ ในการกลับมาเคารพธรรมชาติด้วยการสร้างธุรกิจที่ดูแลการอยู่ร่วมกันเป็นองค์รวม ของมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม มอบความไว้วางใจให้กับความอุดมสมบูณ์ที่ธรรมชาติจะมอบให้ โดยไม่ต้องแสวงหาตักตวงมุ่งเอาตัวรอดแต่โดยลำพัง

 

“มนุษย์มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่นและต่อธรรมชาติซ่อนอยู่มาแต่โบราณ เราเพียงหลงลืมสิ่งเหล่านี้ไปในช่วงเวลาไม่กี่สิบกี่ร้อยปีมานี่เอง”

เป็นข้อคิดที่ทีลกรและผู้ก่อตั้งต่างเชื่อมั่นร่วมกัน และเป็นความเชื่อที่สมาชิกองค์กร “ฟ้ากว้าง” ได้ประจักษ์เห็นชัด จนปัจจุบันเป็นความเชื่อหลักขององค์กรที่โดดเด่น ในมุมของธุรกิจ ฟ้ากว้างเติบโตต่อเนื่องอย่างรวดเร็วจนมีสเกลอยู่ในระดับยอดของปิรามิดของประเทศ ลักษณะเด่นของฟ้ากว้าง คือผลิตภัณฑ์และบริการที่แตกแขนงออกอย่างไร้การรวมศูนย์ แต่เต็มเปี่ยมด้วยโครงข่ายในการประสานงาน ทั้งภายในองค์กร และภาคส่วนสาธารณะ ประชาสังคมต่างๆ 

 

“สำนักงานใหญ่” ในความหมายเดิมเมื่อ 5 ปีก่อนนี้ ห่างไกลจากสภาพปัจจุบันของฟ้ากว้างเป็นอย่างมาก ชนิดที่หากเชื้อเชิญผู้คนจากเมื่อ 5 ปีก่อนให้เดินทางข้ามเวลามาในปี 2569 นี้ พวกเขาอาจตื่นตะลึงจนเกือบเสียสติก็เป็นได้ ปัจจุบันสิ่งที่หลงเหลืออยู่ที่จะใกล้เคียงกับ “สำนักงานใหญ่” นั้น ที่ฟ้ากว้างเรียกมันว่า “กลุ่มกลาง” ซึ่งมีสมาชิกที่ทำงานเป็นประจำในพื้นที่นี้เพียงประมาณ 30 คน หากเทียบกับเครือข่ายองค์กรฟ้ากว้างที่มีสมาชิกทั้งหมดถึง 50,000 คน และยอดรายรับกว่าแสนล้านบาทต่อปี ฟ้ากว้างมี “สำนักงานใหญ่” (ในความเหมายเก่าๆ) ที่เล็กจิ๋วมาก  

ช่วยตอบเสียงวิจารณ์ที่ว่า ฟ้ากว้างเติบโตอย่างรวดเร็วเกินไปหน่อย ? (อ.ป้อง ภัทร เริ่มถาม)

“คนภายนอกอาจจะเห็นว่าเราเร่งเติบโต หลายคนสงสัยว่าผมมีวิธีการอัดฉีดอย่างไร ที่ผมอ้างว่าผมเลิกงานทำงานที่เป็นการบริหารจัดการ ผมโกหกรึเปล่า คำตอบคือ ผมจะย้ำว่าเราเติบโตแบบธรรมชาติ (Organic growth) ในโลกเก่าผู้คนเชื่อว่าเราจะโตได้ต้องใส่ปุ๋ยต้องอัดเม็ดเงินต้องล่อใจ ต้องสร้างอุปสงค์เทียม ต้องไล่ฆ่าคู่แข่ง หรือซื้อคู่แข่งเสียเลย แต่เราไม่ได้ทำสักอย่าง เราทำง่ายกว่านั้นเยอะ เราเพียงทำสิ่งที่ใช่และอนุญาตให้มันโต อะไรก็ตามที่ใช่ คุณไม่ต้องไปสู้รบกับใคร จะมีแต่คนอยากทำ อยากเดินทางไปกับเรา เรากล้าอนุญาตไหม ที่จะมีการลองผิดลองถูก เรียนรู้ร่วมกัน ในภาพการบริหารแบบเก่า คนอาจจะมองว่าผมเจ็บตัวเยอะ ทั้งโดนโกงโดนหลอก แต่มันเป็นเพียงบทเรียนรู้ก่อนแต่งงาน เราต้องลงทุนในการเรียนรู้ คนที่ไม่ใช่ partner ตัวจริงก็จะแสดงตัวออกมาอย่างนั้น และเราก็ไม่ร่วมทางด้วย แต่คนที่เป็น partner ตัวจริงมีเยอะกว่า และเค้าหาองค์กรอย่างเรามานานแล้ว รอมาเป็นสิบเป็นร้อยปีแล้ว พอเค้าเจอเราเค้ากระโจนใส่เลย นี่แหละที่เราโตเร็ว แต่โตอย่างธรรมชาติ เราไม่เคยตั้งเป้าการเติบโตเลยนะ และที่สำคัญที่สุด ฟ้ากว้างไม่ใช่ทีลกร มันไม่ใช่ผม มันคือพวกเราทุกคน แล้วผมจะไปมัวบริหารใคร ไม่มีใครให้บริหาร เราต่างดูแลตัวเอง และดูแลกันและกัน อันนี้ง่ายกว่างานบริหารเยอะ”

 

ผู้คนในองค์กร ไว้ใจได้จริงหรือ?


“คนในครอบครัวของคุณ ไว้ใจได้ไหมล่ะ? คำตอบอาจจะเป็น ไว้ใจได้ส่วนใหญ่ แต่อาจมีบางคนไว้ใจไม่ได้ แต่คุณอยากอยู่ในครอบครัวแบบไหนล่ะ? แบบที่ไว้ใจ หรือแบบที่หวาดระแวงผู้คน? คุณอยากอยู่แบบไหน คุณก็ทำแบบนั้น ง่ายที่สุดแล้ว ที่ฟ้ากว้างเราอยู่แบบที่ไว้ใจผู้คน แต่ในความไว้ใจนี้มีความโปร่งใสทุกทิศทาง ทั้งข้อมูลข่าวสารต่างๆทั้งหมดขององค์กร ไม่มีความลับ ถ้ามีอะไรที่ผมจะห้าม คือห้ามมีความลับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเดินแก้ผ้าตลอดเวลาใช่ไหม เพียงแต่ถ้าใครอยากรู้อะไรก็ตาม เขาต้องรู้ได้ อย่าลืมว่าฟ้ากว้างไม่มีศัตรู ไม่มีคู่แข่ง มีแต่พันธมิตรและผู้ยังไม่เป็นพันธมิตร แต่ถึงกระนั้นเขาก็ไม่ใช่ศัตรู ไม่ใช่คู่แข่ง เพราะเราไม่ต้องการเอาชนะใคร และไม่เคยเอาชนะใคร อะไรดี อะไรใช้ได้ มันก็เติบโต อะไรใช้ไม่ได้มันก็ตายไปหายไป ทุกๆส่วนของฟ้ากว้างก็เป็นแบบนี้ มีเซลล์ที่โต มีเซลล์ที่ตาย เป็นวิวัฒนาการ เป็นธรรมชาติ คนที่นี่ไม่เคยยึดติดตำแหน่ง เราไม่มีตำแหน่ง เรามีแต่บทบาทที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกคนเป็นแบบนี้ ชีวิตเป็นแบบนี้”

 

ช่วยขยายความ “การไม่บริหาร” ให้ชัดๆหน่อย?

 

“555 ก่อนอื่นผมย้ำว่าผมทำงานนะ เดี๋ยวจะหาว่าผู้บริหารไม่บริหารก็ไม่ได้ทำงานล่ะสิ แต่ชวนคุณมองว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่เจ๋งที่สุดของคุณ นี่มันคือช่วงที่คุณได้ “บริหาร” ตัวเองใช่ไหม ที่ฟ้ากว้างนี่เราไม่จัดการใคร ถ้าจะมีใครให้จัดการมันคือ “ตัวเอง” และบทบาทนี้คืองานของผม งานของผมคือจัดการตัวเอง ไม่ใช่จัดการคนอื่น และบทบาทของผมคือสนับสนุนให้ผู้คน “จัดการตัวเอง” แต่คุณต้องได้ยินผมพูดมาก่อนว่า เราเคารพเสียงเรียกในระดับลึกของธรรมชาติ ของผู้คน เสียงเรียกเหล่านี้คือพลังหล่อเลี้ยงฟ้ากว้าง ไม่ใช่เงิน ไม่ใช่ยอดขาย แต่สิ่งเหล่านั้นมันตามมาเองเมื่อเราทำสิ่งที่ใช่ ธรรมชาติก็ดูแลเราดี ไม่แย่หรอก พอผู้คนทำงานตามเสียงเรียกนี้ แท้จริงเขาทำเพื่อ “ตัวเอง” นั่นแหละ แต่มันเป็นตัวเองในระดับลึกที่จริงแท้ ไม่ฉาบฉวย ไม่ใช่ทำจากภาวะวิตกเอาตัวรอด หรือตักตวงเก็บไว้กินวันหลัง แต่ทำเพื่อความมั่นคงในชีวิต แบบไม่ต้องกักตุน ฝังตุ่ม ลุ้นหุ้นอะไรเลย ความมั่นคงเกิดจากเครือข่ายที่มีชีวิต ที่คอยดูแลกัน นี่มันโบราณมาก น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า ที่เราทำนี่ไม่มีอะไรใหม่ โบราณมาก แต่จริงแท้มาก ทีนี้เมื่อผู้คนเชื่อมั่นในการ “ทำเพื่อตัวเอง” แล้วยังได้รับอิสระ ไม่มีใครมาคอยบริหารเขา เพียงแต่เขาต้องพูดคุยกัน ทำไปด้วยกัน เป้าประสงค์นี้มันทรงพลังที่สุดกับชีวิตแล้ว มันจะต้องมีใครไปบริหารใครอีกหรือ? นี่ถ้าผมเผลอทำอะไรไม่เข้าท่า เดี๋ยวก็จะมีคนมาบอกนะ เขาไม่ปล่อยให้ผมโง่อยู่คนเดียว ไม่มีใครจัดการใครนะ เขามาบอกให้เรารู้ ที่เหลือเราต้องจัดการตัวเอง”

 

เคยให้ข่าวกับสื่อหลายครั้งว่าฟ้ากว้างไม่สนกำไร แล้วทำไมยังทำกำไรมากมาย?

 

“555 ต้องแก้ข่าวนะครับ ฟ้ากว้างใส่ใจในเรื่องกำไรเสมอ เพราะกำไรเป็นสิ่งสะท้อนที่ดีมากของการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ในภาษาของเรา มูลค่าเพิ่ม คือการทำสิ่งที่ใช่ ถ้าไม่ใช่มันก็ไม่มีมูลค่า ไม่มีใครต้องการ ดังนั้นถ้าสิ่งที่เราทำมันใช่จริง มันต้องมีมูลค่าเพิ่ม แต่มิติมูลค่าเพิ่มของเราไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการเงิน แต่เป็นเศรษฐศาสตร์องค์รวมที่มองถึงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม พร้อมกันเสมอ เวลาที่เราทำงานเราจึงไม่ได้เอากำไรในทางการเงินมานำหน้า แต่เราเป็นองค์กรที่ใส่ใจกำไรมาก กำไรในมุมของ “มูลค่าเพิ่ม” ที่แท้จริง เราไม่ได้ทำกำไรแบบตักตวงล้างผลาญแล้วปล้นเงินไปจากสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างดีกว่านะ อย่างโปรเจค “โต๊ะสวยนาใส” นี่เรานำอาหารออร์แกนิคมาสู่โต๊ะอาหารที่บ้านผู้บริโภค แต่ดูแล value chain ทั้งหมดตั้งแต่ท้องไร่ท้องนามาเลย เราไม่ได้มองโจทย์แค่การหาอาหารมาขายเหมือนพ่อค้าเมื่อห้าปีก่อน แต่เราลงไปศึกษา value chain ทั้งระบบก่อน มีประเด็นสังคมความเป็นอยู่ของเกษตรกรด้วย ที่เค้าเคยทำแล้วจนลง หนี้มากขึ้น ครอบครัวแตกแยกมีปัญหาเยอะแยะ ดังนั้นเราดู “มูลค่าเพิ่ม” ทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นใน value chain นี่ไม่ใช่แค่เงินหรือรายได้อย่างเดียว แต่ฟ้ากว้างไม่ใช่การกุศลนะ เราเชื่อว่าถ้าเราทำถูกต้องนี่มันต้องมองแบบธุรกิจได้ นั่นคือ “กำไร” ซึ่งไม่ได้มีมิติการเงินอย่างเดียวเช่นกัน พอเราเห็นโจทย์เต็มภาพแบบนี้แล้วเรารู้ว่าต้อง “คุย” กับ partner ไหนบ้าง การสร้างเครือข่ายในการทำงานนี่คือจุดแข็งของเรา เพราะเราตระหนักเสมอว่า “สิ่งที่ใช่” นั้นเราไม่เคยทำได้สำเร็จคนเดียว และเรามีความสามารถในการพูดคุยที่มีคุณภาพ หรือ dialogue นี่แหละจุดแข็งเรา เป็นวัฒนธรรมเราเลย เราร่วมมือกับผู้พัฒนาเทคโนโลยีในการทำระบบออร์แกนิคให้มีทั้งประสิทธิภาพ มาตรฐาน ง่ายต่อทั้งเกษตรกร ไปจนถึงผู้บริโภค เทคโนโลยีมันราคาไม่ถูกนะ นี่แองเจิ้ลฟันด์ก็เข้ามา เราร่วมมือกับสถาบันการเงินและฟินเทคในการดูแลระบบการเงินของทั้ง value chain แล้วยังไปพ่วงกับ NGO ทำ escrow เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร คือเกษตรกรได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็จริง แต่ลูกหลานจะรีบไปออกรถปิคอัพมาแต่งซิ่ง หรือออกมอเตอร์ไซค์มาบิดยกล้อแข่งกันไม่ได้นะ เงินที่ได้จะมีการบริหารจัดการที่ดี นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและการลงทุนที่เหมาะสม ซึ่งขอย้ำว่าเป็นการทำงานจากการคุยที่มีคุณภาพร่วมกันทุกฝ่าย รวมเกษตรกรด้วย ว่านี่คือสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการ พอเรามองมูลค่าเพิ่มเต็มรูปแบบนี้ ผู้บริโภคเข้าใจ ติดตามสนับสนุนเรา เขาสบายใจที่ได้ร่วมใน value chain นี้ เพราะเขารู้ว่ามันเกิด “มูลค่าเพิ่ม” ที่แท้จริงกับเขา นี่แหละที่มาของ “กำไร” ที่คนภายนอกไม่เข้าใจหากมองเราแบบฉาบฉวย”

 

เห็นพูดตอนต้นว่าที่ตัดสินใจเปลี่ยนมาเมื่อ 5 ปีก่อน มีประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตของตัวเอง?

 

“ใช่ครับ บริหารแบบเดิมอย่างนั้น เครียดมาก มีทั้งเป้าหมายเลิศเลอที่ต้องบรรลุ บรรลุแล้วจะได้อะไร ได้เงินได้ทอง แต่ชีวิตลำบาก สังคมลำบาก โลกยิ่งลำบาก ไม่เห็นมีอะไรดีจริงสักอย่าง เงินทองเอามาก็ไม่ได้งอกเงย มีการปรับตัวย่อค่าลงตลอด นึกว่ารวยขึ้น แต่มีเพียงตัวเลข ถึงเวลาที่โลกเจอวิกฤติจริงๆ ออกนอกบ้านยังไม่ได้เลย จะไปใช้เงินทำอะไร ผมเห็นความโง่ความบ้าของตัวเองเลย แล้วยังปัญหาสุขภาพอีก ทั้งความดัน ตอนนั้นแว่วๆจะได้เบาหวานด้วย ต่อไปหัวใจตามมาแน่นอน พอกลับตัวทัน เชื่อไหมตอนนี้เคลียร์เลย ตรวจไม่เจอเลย ส่วนหนึ่งผมว่าเป็นเพราะเรามีเวลามากขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้นจากการที่ไม่เครียดไม่ต้องคอยไปรับผิดชอบจัดการใคร แต่อีกส่วนหนึ่งผมเชื่อว่าเพราะเราจริงแท้และเคารพธรรมชาติมากขึ้น นี่ธรรมชาติก็กลับมาเอ็นดูเรานะ”

 

* ชื่อ “ฟ้ากว้าง” เป็นนามสมมุติ ไม่เกี่ยวข้องกับองค์ใดที่มีชื่อเหมือนหรือคล้าย ในปัจจุบัน

 

 


Visitors: 159,169